ประเด็นร้อน
คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มีไว้ทำอะไร
โดย ACT โพสเมื่อ Aug 22,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน : โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
ก่อนอื่นต้องขออธิบายข้อที่มีหลายคนเข้าใจผิดว่า การตั้งคณะกรรมการต่อต้าน การทุจริตแห่งชาติ (คตช.) นั้นเป็นเพียงการสร้างภาพของรัฐบาลว่าจริงจังกับการต่อต้านการทุจริตเท่านั้น และรายชื่อคณะกรรมการที่มีนักวิชาการและตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม ก็เพียงเพื่อดึงแนวร่วมไม่ให้หนีจากรัฐบาลไป
สำหรับผมที่ได้ร่วมเป็นกรรมการ คตช. มาตั้งแต่ชุดแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมบอกทุกคนมาตลอดและขอบอกอีกครั้งว่า การมี คตช. นั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการ ต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย
คตช. เป็นคณะกรรมการเพื่อการต่อสู้กับคอร์รัปชันระดับชาติคณะแรกที่มีตัวแทนภาคประชาชน ภาควิชาการ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมเป็นคณะกรรมการชุดเดียวกัน กรรมการ กลุ่มนี้ได้เข้าไปร่วมคิด ร่วมเสนอมาตรการต่างๆ ตรงต่อผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐบาล คือนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งเป็นประธาน คตช. ด้วย จึงเห็นได้ว่า คตช. นี้มีปัจจัยที่จำเป็นในการผลักดันให้งานใหญ่ที่ยากๆ สำเร็จได้ ครบทั้ง 3 ประการ นั่นคือ ความรู้ สังคม และอำนาจรัฐ ดังที่ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี เรียกว่า "3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา"ซึ่งที่ผ่านมาความร่วมมือมักจำกัดอยู่เพียงระหว่างนักวิชาการกับองค์กรภาคประชาสังคมเท่านั้น การมีอำนาจรัฐเข้ามาร่วมด้วยในครั้งนี้จึงเป็นปรากฏการณ์สำคัญของประเทศไทยเลยทีเดียว
ความรู้ คือการรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ความรู้ที่ตรงประเด็นในเรื่องคอร์รัปชันของประเทศไทย พร้อมหาสาเหตุ และวิธีแก้ไข ซึ่งในวันนี้เรามีอยู่พร้อมแล้วมากมาย
สังคม คือความตื่นรู้พร้อมลงมือสู้โกง ของคนในสังคม ซึ่งวันนี้คนไทยมีความพร้อมมาก เห็นได้จากผลการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันครั้งล่าสุด โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่าประชาชนทั่วประเทศ 98% รับไม่ได้แล้วกับรัฐบาลที่โกงกิน และ 87% ยินดีร่วมมือกับการต่อต้านคอร์รัปชัน
อำนาจรัฐ ในอดีตเราเคยมีผู้นำรัฐบาลที่ประกาศต่อสู้กับคอร์รัปชัน แต่สุดท้ายก็แก้ไขอะไรไม่ได้จริง บางทีก็เจอผู้นำ รัฐบาลที่สั่งการทุกฝ่ายได้อย่างเด็ดขาด ทำงาน เห็นผลรวดเร็ว แต่กลับใช้อำนาจเพื่อการทุจริต ประพฤติมิชอบเสียเอง ในครั้งนี้เรามีผู้นำรัฐบาล ที่จริงจังในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน และเปิดกว้าง ให้กับความรู้และสังคม จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง
เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพโอกาสการสร้าง ความเปลี่ยนแปลงจริงเมื่อ 3 ปัจจัยนี้มารวมกัน ผมขอเล่าถึงเหตุการณ์วันแรกของการประชุม คตช. เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ที่ห้องประชุม สีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน คตช. ได้กล่าวกับคณะกรรมการว่า "ขอให้บอกมาว่าจะให้ผมสั่งการเรื่องอะไร อย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศเรา ไม่ต้องมาบรรยายถึงปัญหาและภัยจากการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศเราอีกต่อไป เพราะก็รู้ๆ กันดีอยู่แล้ว" ดังนั้น เมื่อคุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เสนอการใช้ระบบ ข้อตกลงคุณธรรม เพื่อส่งผู้สังเกตการณ์อิสระ เข้าไปดูแลการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยในขั้นแรกเสนอให้ใช้กับโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ของ ขสมก. และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน นายกฯ จึงตอบทันทีว่า "จะเอาแค่ 2 โครงการหรือ ผมอยากให้ใช้กับโครงการอื่นๆ อีกมากกว่านี้ เสนอมาเพิ่มอีกได้ไหม" พวกเราดีใจกันมากที่ข้อเสนอนี้ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี เพราะโครงการข้อตกลงคุณธรรมนี้ได้เคยเสนอในรัฐบาลก่อนหน้านี้มาแล้ว แต่เมื่อเรื่องถึงขั้นเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วก็หายเงียบไป ไม่มีผลใดๆเกิดขึ้น เพียงแค่การเปิดรับฟังข้อเสนอและตัดสินใจนี้ ทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณไปได้แล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท
ตัวอย่างผลงานเรื่องอื่นๆ ของ คตช. นั้นอาจจะไม่สามารถวัดผลสำเร็จเป็นตัวเงินได้ชัดเจน แต่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นการวางรากฐาน ระบบป้องกันการคอร์รัปชันที่ยั่งยืน เพื่อลดโอกาสและปิดช่องทางที่รัฐบาล ในอนาคตจะทำการทุจริตได้ง่ายเหมือนที่ผ่านมา และมีการเสริมสร้างพลังของภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง โดยการสนับสนุนการเข้าถึง ข้อมูลข่าวสารสาธารณะได้อย่างสะดวกและรวดเร็วเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ผลงานอื่นๆ ของ คตช. ดูได้จากงานตามหน้าที่ของ คณะอนุกรรมการฯ ชุดต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ที่มี รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เป็นประธาน ได้นำเสนอโรดแมปการต่อต้านคอร์รัปชันด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ที่มีทิศทางยุทธศาสตร์สองด้านคือ ยุทธศาสตร์การศึกษา การขับเคลื่อนด้วยหลักสูตร "โตไปไม่โกง" และยุทธศาสตร์สื่อสู่สังคม การขับเคลื่อนด้วยการใช้สื่อรณรงค์ สร้างกระแส "คนไทยไม่โกง"
คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการประชาสัมพันธ์ ที่มี รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน ได้ขยายการรับรู้ เข้าใจ และตื่นตัวในมหันตภัยของการทุจริตคอร์รัปชันของทุกภาคส่วน
คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริต แห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต ที่มี รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค เป็นประธาน และ มี รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ เป็นรองประธาน ได้รวบรวมและศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย เพื่อนำเสนอ มาตรการที่เหมาะสมต่อรัฐบาล เช่น การเสนอ ให้รัฐบาลเข้าร่วมแนวทางการสร้างความโปร่งใสในด้านต่างๆ ตามมาตรฐานสากล เช่น โครงการเพื่อความโปร่งใสในภาคอุตสาหกรรม การสกัดทรัพยากร หรือ The Extractive Industries Transparency Initiative (EITI) เพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่สากลในเรื่อง ความโปร่งใสทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากร น้ำมัน ป่าไม้ เหมืองแร่, โครงการความโปร่งใส ในการก่อสร้างภาครัฐ หรือ Construction Sector Transparency initiation (CoST) ที่กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างภาครัฐอย่างเป็นระบบ, การเป็นภาคี สมาชิกความร่วมมือเพื่อเปิดเผยข้อมูล ภาครัฐ (Open Government Partnership: OGP) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 65 ประเทศทั่วโลกซึ่งจะทำให้ไทยได้รับความน่าเชื่อถือเรื่องของความโปร่งใสในการดำเนินกิจการต่างๆ โดยจะมีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ใน 4 ด้าน คือ หนึ่ง ความโปร่งใสด้านการคลัง สอง การเข้าถึงข้อมูลของประชาชน สาม การเปิดเผยข้อมูลด้านรายได้และสินทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และสี่ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และในส่วนการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐ คณะอนุกรรมการชุดนี้ ได้เสนอให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) สนับสนุนหน่วยงานของรัฐให้จัดเก็บ และเผยแพร่ข้อมูลสาธารณะในรูปแบบ Open Data
ที่สำคัญที่สุดคือการเสนอให้การประมูลงานก่อสร้างของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ตลอดจน อบต. อบจ. และเทศบาลใช้รหัสต้นทุนการก่อสร้าง หรือ Cost Code ตามมาตรฐานที่จัดทำขึ้นโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถรวบรวมราคา ค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงในงานก่อสร้างจากทั่วประเทศ มาใช้คำนวณราคากลาง ที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดได้
ผลงานที่ผ่านมาของ คตช. ยังมี รายละเอียดอีกมาก จึงขอสรุปปิดท้ายอีกทีว่า การมีคณะกรรมการต่อต้านการ ทุจริตแห่งชาติ หรือ คตช.นั้น เป็นประโยชน์ อย่างยิ่งต่อการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย โดยล่าสุดหลังจากที่มีการประกาศแต่งตั้งกรรมการ คตช. ชุดใหม่เมื่อคืนวันพุธที่ 15 สิงหาคม 2561 ได้มีการ เรียกประชุม คตช. ชุดใหม่นี้แล้วในวันจันทร์ที่ 3 กันยายนนี้ แล้วผมจะนำประเด็นสำคัญ จากการประชุมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง กับสถานการณ์การคอร์รัปชันในประเทศไทย มาเขียนให้อ่านกันต่อไปนะครับ
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน